ต้อกระจก เป็นภาวะที่แก้วตาหรือเลนส์ตา (lens) ภายในลูกตามีลักษณะขุ่นขาวขึ้นจากปกติที่มีลักษณะโปร่งใสเหมือนกระจก อาจมีลักษณะขุ่นที่ตรงกลาง (nuclear cataracts) หรือขอบ ๆ (cortical cataracts) หรือด้านหลังของแก้วตา (posterior subcapsular cataracts)
เมื่อแก้วตาขุ่นขาวก็มีลักษณะทึบแสง ไม่ยอมให้แสงผ่านเข้าสู่ลูกตาไปรวมตัวที่จอตา (เรตินา) ทำให้เกิดอาการสายตาฝ้าฟาง หรือสายตามัวคล้ายเห็นมีหมอกบัง
พบมากในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คนอ้วน ผู้ที่ใช้ยาสตีรอยด์ติดต่อกันนาน ๆ ผู้ที่สัมผัสถูกแสงแดด สูบบุหรี่หรือดื่มสุราจัดเป็นประจำ และอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคตาชนิดอื่น ๆ
สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะเสื่อมตามวัย ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีจะเป็นต้อกระจกแทบทุกราย แต่อาจเป็นมากน้อยต่างกันไป เรียกว่า ต้อกระจกในผู้สูงอายุ (senile cataract)
นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งทำให้เกิดต้อกระจกก่อนวัยสูงอายุ เช่น
การมีโรคเรื้อรังประจำตัว (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง) หรือมีภาวะอ้วน
การถูกแสงแดด (รังสีอัลตราไวโอเลต)
ความผิดปกติของตา (เช่น สายตาสั้นชนิดรุนแรง ม่านตาอักเสบ ต้อหิน) การได้รับบาดเจ็บ การกระทบกระเทือนที่ตาอย่างรุนแรง หรือการผ่าตัดตา
การใช้ยา ที่พบบ่อย ได้แก่ การใช้ยาสตีรอยด์ติดต่อกันนาน ๆ ทั้งชนิดกิน ชนิดหยอดตา ชนิดทา และชนิดสูดพ่น
การถูกรังสีบริเวณตานาน ๆ เช่น ผู้ที่เป็นมะเร็งที่เบ้าตาเมื่อรักษาด้วยรังสีบ่อย ๆ
การสูบบุหรี่ หรือดื่มสุราจัด
ในเด็กอาจเป็นมาแต่กำเนิด อาจมีสาเหตุจากติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา (เช่น ทารกที่เป็นหัดเยอรมัน หรือซิฟิลิสแต่กำเนิด) หรือเกิดจากโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ (เช่น โรคกาแล็กโทซีเมีย, โรคเท้าแสนปมชนิดที่ 2) หรือกลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome เป็นโรคปัญญาอ่อนชนิดหนึ่งซึ่งทารกมีโครโมโซมที่ผิดปกติ)
เด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (atopic dermatitis) อาจพบว่าเป็นต้อกระจกตั้งแต่อายุ 20-40 ปี ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากตัวโรคเอง หรือเกิดจากการใช้สตีรอยด์ติดต่อกันนาน ๆ ก็ได้
อาการ
ในระยะเริ่มแรกผู้ป่วยจะรู้สึกมีอาการตามองเห็นเหมือนมีหมอกจาง ๆ บังตาเพียงพื้นที่เล็ก ๆ ต่อมาสายตาจะค่อย ๆ มัวมากขึ้น และขยายพื้นที่ที่เห็นเหมือนหมอกบังมากขึ้นโดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือตาแดงแต่อย่างใด
ผู้ป่วยจะรู้สึกตอนกลางคืนสายตาจะมัวมาก การอ่านหนังสือหรือทำงานที่ต้องใช้สายตาต้องใช้แสงที่สว่างมากขึ้น หรืออาจต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อย
นอกจากนี้ ยังอาจมี อาการมองในที่มืดชัดกว่าที่สว่าง* หรือถูกแสงสว่างจะรู้สึกตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ มองเห็นภาพสีซีดกว่าปกติหรือเป็นสีเหลือง มองเห็นแสงไฟกระจาย (โดยเฉพาะขณะขับรถในตอนกลางคืน) หรือมองเห็นเป็นวงแหวนรอบแสงไฟ บางคนอาจมีอาการมองเห็นภาพซ้อน
อาการตามัวจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ กินเวลาเป็นแรมเดือนแรมปี จนในที่สุดเมื่อแก้วตาขุ่นขาวมากขึ้น ก็จะมองภาพ (เช่น ตัวเลข ตัวหนังสือ หน้าคน) ไม่ชัด
สำหรับต้อกระจกในผู้สูงอายุ มักจะเป็นที่ตาทั้ง 2 ข้าง แต่จะสุกไม่พร้อมกัน หรือข้างหนึ่งมีอาการมากกว่าอีกข้างหนึ่ง
*สำหรับต้อกระจกในผู้สูงอายุในระยะแรก แก้วตามักจะขุ่นขาวเฉพาะบริเวณตรงกลาง เมื่อมองในที่มืดรูม่านตาจะขยาย เปิดทางให้แสงผ่านเข้าแก้วตาส่วนรอบนอกที่ยังใสเป็นปกติ จึงทำให้เห็นภาพได้ชัด แต่เมื่อมองในที่สว่างรูม่านตาจะหดเล็กลง แสงสว่างจะผ่านเฉพาะแก้วตาส่วนตรงกลางที่ขุ่นขาวทำให้พร่ามัว
ภาวะแทรกซ้อน
เมื่อต้อสุกและไม่ได้รับการผ่าตัดจะทำให้ตาบอดสนิท
ในบางรายแก้วตาอาจบวม หรือหลุดลอยไปอุดกั้นทางระบายของเหลวในลูกตา ทำให้ความดันภายในลูกตาสูงขึ้น จนกลายเป็นต้อหินได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาอย่างรุนแรง
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
การตรวจดูตาจะพบแก้วตามีลักษณะขุ่นขาว เวลาใช้ไฟส่องผู้ป่วยจะรู้สึกตาพร่า
การใช้เครื่องส่องตา (ophthalmoscope) ตรวจดูจะไม่พบปฏิกิริยาสะท้อนสีแดง (red reflex)
แพทย์จะใช้เครื่องตรวจวัดสายตา ความดันลูกตา จอประสาทตา และการตรวจสุขภาพตา ซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน
บางครั้งแพทย์อาจให้ยาหยอดตาขยายรูม่านตา เพื่อเปิดมุมกว้างสำหรับการตรวจภายในลูกตาได้ละเอียด อาจทำให้เห็นแสงจ้า หรือรู้สึกตาพร่ามัวอยู่สักพักใหญ่ และจะหายดีหลังจากยาหมดฤทธิ์
การรักษาโดยแพทย์
ถ้าอาการยังไม่มาก แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับการดูแลตนเองของผู้ป่วย ตัดแว่นสายตาใหม่ให้ผู้ป่วยใส่เพื่อให้มองเห็นได้ชัดขึ้น และนัดผู้ป่วยมาติดตามตรวจดูอาการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ (ทุก 6-12 เดือน)
แพทย์จะทำการผ่าตัดต้อกระจกเมื่อผู้ป่วยมีสายตามัวจนดำเนินชีวิตประจำวันได้ไม่สะดวก เช่น การอ่านหนังสือ การทำงานที่ต้องใช้สายตา การเดินทาง การขับรถ เป็นต้น
ส่วนในทารกที่เป็นต้อกระจกมาแต่กำเนิด อาจต้องผ่าตัดเมื่ออายุได้ 6 เดือน เพื่อป้องกันมิให้ประสาทตาเสื่อม
ในปัจจุบันจักษุแพทย์นิยมทำการผ่าตัดโดยวิธีสลายต้อด้วยคลื่นความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ (phacoemulsification) ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่มีอาการไม่มาก หรือตั้งแต่ระยะไม่นานหลังตรวจพบว่าเป็นโรคนี้
การผ่าตัดโดยวิธีนี้ แพทย์จะใช้คลื่นความถี่สูงทำให้เนื้อเลนส์ (แก้วตา) สลายตัวและดูดออก แล้วใส่เลนส์เทียม (ซึ่งสามารถใช้งานได้ตลอดชีวิต) เข้าไปแทนในถุงหุ้มเลนส์เดิม* เรียกว่า "การฝังเลนส์เทียม (Intraocular lens implantation)" โดยมีเลนส์เทียมอยู่หลายชนิด แพทย์จะเลือกใช้เลนส์เทียมชนิดที่เหมาะกับระดับสายตาและการใช้งานของผู้ป่วยซึ่งได้ผ่านการตรวจวัดสายตาอย่างละเอียดก่อนผ่าตัด หลังผ่าตัดผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องใช้แว่นสายตา
การผ่าตัด ใช้วิธีฉีดยาชาที่บริเวณรอบดวงตา แผลผ่าตัดเล็กมากซึ่งไม่ต้องเย็บแผล ใช้เวลาน้อยกว่า 1 ชั่วโมง ไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกทั้ง 2 ข้าง แพทย์จะทำการผ่าตัดทีละข้าง โดยการผ่าตัดข้างที่ 2 ทิ้งช่วงให้ข้างแรกที่ผ่าหายดีเสียก่อน (แผลผ่าตัดมักจะหายดีภายใน 8 สัปดาห์) บางรายแพทย์อาจทำการผ่าตัดทั้ง 2 ข้างในครั้งเดียวกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีคนดูแลหลังผ่าตัดอย่างใกล้ชิด
ผลการรักษา การผ่าตัดด้วยวิธีนี้มีความปลอดภัยสูง และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นสายตาให้กลับมามองเห็นชัดเช่นคนปกติทั่วไป และตาข้างที่ผ่าตัดแล้วไม่เป็นต้อกระจกซ้ำอีก
ส่วนภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดมีน้อยมากและมักแก้ไขได้ เช่น การติดเชื้อ การมีเลือดออกในลูกตา ภาวะถุงเลนส์ตาขุ่นหลังผ่าตัดต้อกระจก (posterior capsule opacification ซึ่งส่งผลให้การมองเห็นพร่ามัว) ภาวะจอตาลอก (retinal detachment) เป็นต้น
*วิธีนี้จะไม่รอจนต้อสุกแบบวิธีผ่าตัดแบบเก่า เพราะถุงหุ้มเลนส์อาจเสื่อมจนใช้งานไม่ได้ จึงนิยมผ่าตัดในระยะที่เริ่มเป็นต้อกระจกได้ไม่นาน
การดูแลตนเอง
หากมีอาการสายตาพร่ามัว มองเห็นคล้ายมีหมอกบังตา หรือมองเห็นแสงสีที่ผิดไปจากปกติ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเป็นต้อกระจก ควรดูแลรักษา ดังนี้
1. ระยะก่อนผ่าตัด
รักษา ใส่แว่นสายตา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามดูอาการเปลี่ยนแปลงตามที่แพทย์นัด
สวมแว่นกันแดด (รังสีอัลตราไวโอเลต) เวลาออกกลางแดด
เวลาอยู่ในบ้านเพิ่มแสงสว่างให้เห็นชัด
เวลาอ่านหนังสือ ใช้แว่นขยายช่วยตามความจำเป็น
หลีกเลี่ยงการขับรถตอนกลางคืน
หลีกเลี่ยงการซื้อยากินและยาหยอดตามาใช้เอง เพราะยังไม่มียาที่ใช้รักษาต้อกระจกให้หายได้ ยกเว้นการผ่าตัด
ถ้ามีอาการปวดตา ตาแดง ตาแฉะ เคืองตา หรือแสบตา ควรปรึกษาแพทย์ ในรายที่ตรวจพบว่ามีอาการแสบตา เคืองตาจากภาวะตาแห้งซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ แพทย์จะให้น้ำตาเทียมหยอดตา
2. ระยะหลังผ่าตัด
รักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เช่น นั่ง ยืน เดิน ออกกำลังกายเบา ๆ ไม่หักโหม อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ กินอาหารได้ตามปกติ อาบน้ำได้ (ยกเว้นส่วนใบหน้าและศีรษะ) สระผมได้ (แต่ควรสระที่ร้านสระผม) ระวังอย่าให้น้ำเข้าตา จนกว่าแผลจะหายสนิท ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์หลังผ่าตัด
หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงเบ่ง (เช่น การยกของหนัก การวิดพื้น การเบ่งอุจจาระแรง ๆ) และการไอหรือจามแรง ๆ ถ้ามีอาการไอมากควรพบแพทย์สั่งยาแก้ไอให้ เวลาจามควรอ้าปากจาม
ห้ามให้น้ำเข้าตา ประมาณ 3-4 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ควรใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำบิดให้หมาดเช็ดหน้าแทนการล้างหน้า และทำความสะอาดตาข้างที่ผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์หรือพยาบาลทุกวัน โดยใช้น้ำเกลือและชุดเช็ดตาที่ทางโรงพยาบาลจัดให้
ห้ามขยี้ตาหรือกระทบกระเทือนรุนแรงบริเวณดวงตาข้างที่ผ่าตัด ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ควรป้องกันเหตุดังกล่าวด้วยการใช้ที่ครอบตาพลาสติกปิดตา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเข้านอนทุกคืน) ในเวลากลางวันหากไม่สะดวกที่จะใช้ที่ครอบตา สามารถสวมแว่นป้องกันดวงตาแทนที่ครอบตาได้
หลีกเลี่ยงการใช้โลชั่น หรือการแต่งหน้ารอบ ๆ ดวงตา
ใช้ยาหยอดตา/ยาป้ายตาที่แพทย์จัดให้อย่างเคร่งครัด (ซึ่งมักเป็นยาลดการอักเสบและยาปฏิชีวนะ) ควรหยอดตา/ป้ายตาเฉพาะข้างที่ผ่าตัดเท่านั้น ห้ามหยอด/ป้ายข้างที่ไม่ได้ผ่าตัด
หลังเปิดตา (แพทย์จะแนะนำให้ใช้แผ่นผ้าปิดตาข้างที่ผ่าไว้ราว 5-7 วันหลังผ่าตัด) ตาข้างที่ผ่าตัดจะเห็นแสงจ้ามากกว่าปกติ ซึ่งจะค่อย ๆ ปรับเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ หากรู้สึกจ้ามากเมื่ออยู่ในที่สว่าง ควรใส่แว่นตาดำกันแสง
ควรใส่แว่นตาดำกันแดดขณะออกไปข้างนอก หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่นหรือควันมาก
ติดตามการรักษาตามที่แพทย์นัด โดยทั่วไปแพทย์จะนัดมาดูแผลในวันรุ่งขึ้น และ 1 สัปดาห์ และ 1 เดือน หลังผ่าตัด หากไม่มีปัญหาแทรกซ้อนก็จะนัดห่างขึ้นไป และในที่สุดแพทย์จะนัดตรวจสุขภาพตาปีละ 1 ครั้ง
ควรกลับไปปรึกษาแพทย์ก่อนนัดทันที
- ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น เปลือกตาบวม ตาแดงมากขึ้น ปวดตามาก มีขี้ตามากขึ้น เห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูป ตาข้างที่ผ่าเคยชัดกลับมัวลงอีก หรือเผลอขยี้ตาหรือตาได้รับการกระทบกระเทือนแรง
- ในกรณีที่แพทย์ให้ยากิน ยาหยอดตา/ยาป้ายตากลับไปใช้ที่บ้าน หากสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง คันตา ตาบวม ตาแดง ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
ต้อกระจกในผู้สูงอายุ ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล แต่อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจก หรือป้องกันไม่ให้เกิดต้อกระจกก่อนวัยอันควร ด้วยการปฏิบัติตัวดังนี้
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการดื่มสุราจัด
หลีกเลี่ยงการซื้อยาสตีรอยด์ ยาชุดหรือยาลูกกลอนที่ใส่ยาสตีรอยด์มาใช้เองอย่างพร่ำเพรื่อ (ยาสตีรอยด์เป็นยาอันตรายที่ควรให้แพทย์สั่งใช้ตามความจำเป็น)
สวมแว่นกันแดด (รังสีอัลตราไวโอเลต) เวลาออกกลางแดด
ถ้าน้ำหนักเกิน ลดน้ำหนัก
ควบคุมโรคประจำตัว (เช่น เบาหาน ความดันโลหิต) ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและเกลือแร่ให้เพียงพอ ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกได้
ข้อแนะนำ
1. อาการตามัวอาจมีสาเหตุอื่นนอกจากต้อกระจก ควรซักถามอาการและตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่ใช่เกิดจากภาวะร้ายแรง เช่น ต้อหิน (ตรวจอาการตามัว)
2. ต้อกระจกที่พบในผู้ที่มีอายุน้อย หรือวัยกลางคน อาจมีสาเหตุจากเบาหวานหรืออื่น ๆ ได้ ควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาล
3. การรักษาต้อกระจกมีอยู่วิธีเดียว คือ การผ่าตัด ไม่มียาที่ใช้กินหรือหยอดแก้อาการของต้อกระจกได้ ปัจจุบันแพทย์นิยมทำการผ่าตัดโดยวิธีสลายต้อด้วยคลื่นความถี่สูงและการฝังเลนส์เทียม ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ เลนส์เทียมชนิดโฟกัสระยะเดียว (monofocal IOL ช่วยให้สามารถโฟกัสภาพในระยะไกลได้ ส่วนการมองใกล้ต้องอาศัยแว่นอ่านหนังสือช่วย), เลนส์เทียมชนิดโฟกัสหลายระยะ (multifocal IOL ใช้สำหรับมองไกลและใกล้ได้), เลนส์เทียมชนิดยืดหยุ่น (accommodating IOL ปรับระยะได้ในตัวเอง คล้ายแก้วตาธรรมชาติ), เลนส์เทียมชนิดแก้ไขสายตาเอียง (Toric IOL ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้แว่นตาแก้สายตาเอียงหลังผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีสายตาเอียงอยู่เดิม), เลนส์เทียมชนิดโฟกัสหลายระยะและแก้ไขสายตาเอียง (Multifocal Toric IOL ช่วยให้มองเห็นในระยะใกล้และไกลชัดเจน และแก้ไขสายตาเอียง)
สำหรับผู้ป่วยที่มีข้อห้าม ไม่สามารถผ่าตัดโดยวิธีฝังเลนส์เทียม หลังผ่าตัดเอาต้อกระจกออก แพทย์จะวัดสายตาและตัดแว่นให้ผู้ป่วยใส่แทน
4. ถ้าหลังจากผ่าตัด ตาข้างนั้นมีอาการตามัวอีก ควรกลับไปปรึกษาแพทย์ อาจเกิดจากถุงหุ้มเลนส์ขุ่น หรือสาเหตุอื่น เช่น ต้อหิน จอตาเสื่อม เป็นต้น
5. ผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกควรหลีกเลี่ยงการไปรักษาตามแบบพื้นบ้าน ซึ่งบางคนยังนิยมเพราะกลัวการผ่าตัด หรือกลัวเสียค่าใช้จ่ายมาก หมอเหล่านี้ (ซึ่งไม่ใช่แพทย์) จะทำการเดาะแก้วตา (couching) โดยการใช้เข็มดันแก้วตาให้หลุดไปด้านหลังของลูกตา แสงก็จะผ่านเข้าไปในตาได้ ทำให้มองเห็นแสงสว่างได้ทันที และให้ใส่แว่นทำให้มองเห็นได้ชัดขึ้น แต่ไม่ช้าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ต้อหิน เลือดออกในวุ้นลูกตา หรือประสาทตาเสื่อมทำให้ตาบอดอย่างถาวร
ตรวจอาการด้วยตนเอง: ต้อกระจก (Cataract) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/symptom-checker