ฝีมะม่วง (กามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง ก็เรียก) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของต่อมและท่อน้ำเหลือง มักมีอาการเรื้อรัง
โรคนี้พบได้ประปราย พบมากในผู้ชายที่รักร่วมเพศ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี
อาการฝีมะม่วง (ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวมโตเป็นก้อนฝี) มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ส่วนผู้หญิงมักมีอาการผิดปกติในท้องน้อย เนื่องเพราะเชื้อโรคจากอวัยวะเพศของผู้หญิงมักจะแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อคลามีเดียทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) สายพันธุ์ L1, L2, L3 ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคหนองในเทียมและริดสีดวงตา โรคนี้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (เกิดการติดเชื้อได้ทั้งทางช่องคลอด ทางปาก และทางทวารหนัก) หรือสัมผัสถูกหนองของฝีมะม่วงโดยตรง
ระยะฟักตัว 3-30 วัน (เฉลี่ย 1-2 สัปดาห์)
อาการ
ระยะแรก หลังติดเชื้อประมาณ 3-12 วัน (อาจนานถึง 30 วัน) จะมีตุ่มนูน ตุ่มใส หรือแผลขนาดเล็ก (ซึ่งไม่มีอาการเจ็บปวด) เกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ ในช่องปาก คอหอย หรือทวารหนัก และหายไปเองภายใน 2-3 วันถึง 1 สัปดาห์ โดยที่ผู้ป่วยไม่ทันได้สังเกตพบ
บางรายอาจมีอาการหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะ หรือมีอาการตกขาวเป็นสีเหลืองหรือเขียว หรือมีลำไส้ตรงอักเสบ (proctitis) ซึ่งมีอาการปวดทวารหนัก มีหนองปนเลือดออกจากทวารหนัก และท้องผูก
ระยะที่ 2 หลังเริ่มมีอาการแสดงในระยะแรก 2-6 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวมโตติดกันเป็นก้อนฝีขนาดใหญ่และเจ็บมาก ตรงกลางเป็นร่องของพังผืดที่คล้ายร่องมะม่วงอกร่อง จึงเรียกว่า ฝีมะม่วง ซึ่งอาจเป็นเพียงข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ ผิวหนังบริเวณที่เป็นฝีจะมีอาการอักเสบ มีลักษณะบวมแดงร้อนร่วมด้วย บางรายอาจปวดฝีมากจนเดินไม่ถนัด อาการดังกล่าวมักพบในผู้ชายส่วนใหญ่ พบในผู้หญิงเป็นส่วนน้อย ฝีอาจยุบหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือเป็นเดือน ๆ กลายเป็นแผลเป็น (หรือเกิดพังผืด) แต่บางรายฝีอาจแตกเป็นรูหลายรูและมีหนองไหล กลายเป็นแผลเรื้อรัง
บางรายที่มีการติดเชื้อในช่องปากหรือคอหอย อาจมีต่อมน้ำเหลืองบวมโตและเจ็บที่ข้างคอ
ผู้หญิงจะมีอาการปวดหลังหรือปวดท้องน้อย เนื่องจากเชื้อโรคแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานและบริเวณปากมดลูก หรือช่องคลอดส่วนบน ทำให้ต่อมน้ำเหลืองในบริเวณดังกล่าวอักเสบบวมโต
ระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีผื่นหรือตุ่มขึ้นตามตัว บางรายอาจเกิดการติดเชื้อของอวัยวะต่าง ๆ แทรกซ้อน เช่น เยื่อตาขาวอักเสบ (ตาแดง) ตับอักเสบ (ตับโต) ข้ออักเสบ และที่อาจมีโอกาสเกิดได้แต่น้อยคือ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
ระยะที่ 3 ถ้าไม่ได้รักษามักมีภาวะแทรกซ้อนตามมา ซึ่งอาจปรากฏอาการหลังจากติดเชื้อไปแล้วนาน 1-2 ปี (บางรายอาจนานถึง 20 ปี) โดยผู้ป่วยจะเกิดภาวะผิดปกติของอวัยวะเพศ และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย เช่น ฝีคัณฑสูตร ลำไส้ตรงตีบตัน อัณฑะบวม เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ "ภาวะแทรกซ้อน" ด้านล่าง)
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าไม่ได้รับการรักษาในระยะแรกหรือระยะที่ 2 อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน อาทิ
มีการอุดกั้นของทางเดินน้ำเหลืองในบริเวณอวัยวะเพศ ทำให้อวัยวะเพศภายนอกมีอาการบวมได้ เช่น ปากช่องคลอดบวม อัณฑะบวม
ฝีคัณฑสูตร
สำหรับผู้ที่มีลำไส้ตรงอักเสบ (proctitis) ตั้งแต่ในระยะแรก หากไม่ได้รักษามักจะเป็นเรื้อรัง และในที่สุดเกิดภาวะลำไส้ตรงตีบตัน ถ่ายอุจจาระไม่ออก ภาวะนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ส่วนในผู้ชายมักพบในกลุ่มที่รักร่วมเพศ
ผู้ชายอาจเกิดพังผืดองคชาต หรือองคชาตมีลักษณะผิดรูป
ผู้หญิงอาจมีปากมดลูกอักเสบหรือท่อรังไข่อักเสบเรื้อรัง ซึ่งส่งผลให้มีบุตรยากหรือครรภ์นอกมดลูก
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมีสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ระยะแรก พบตุ่มนูน ตุ่มใส หรือแผลขนาดเล็ก (ซึ่งไม่มีอาการเจ็บปวด) เกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ ในช่องปาก คอหอย
ระยะที่ 2 พบต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบหรือข้างคอบวมโตและเจ็บ บางรายอาจตรวจพบไข้ ตาแดง ข้ออักเสบ หรือฝีที่ขาหนีบแตก มีหนองไหล
ระยะที่ 3 พบอัณฑะบวมหรือมีลักษณะผิดรูป ปากช่องคลอดบวม ฝีคัณฑสูตร หรือลำไส้ตรงตีบตัน
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดหาสารภูมิต้านทานต่อเชื้อคลามีเดียทราโคมาติส การตรวจหาเชื้อจากสารคัดหลั่งจากแผล เนื้อเยื่อของฝีมะม่วง หรือเนื้อเยื่อของลำไส้ตรง
การรักษาโดยแพทย์
1. นอกจากให้การรักษาตามอาการ (เช่น ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ประคบฝีด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ) แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ขนานใดขนานหนึ่ง ดังนี้
ดอกซีไซคลีน ครั้งละ 100 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 21 วัน
เตตราไซคลีน ครั้งละ 500 มก. วันละ 4 ครั้ง นาน 21 วัน หรือ
อีริโทรไมซิน ครั้งละ 500 มก. วันละ 4 ครั้ง นาน 21 วัน
อะซิโทรไมซิน 1 กรัม สัปดาห์ละครั้ง นาน 3 สัปดาห์
2. ถ้าฝีไม่ยุบและมีลักษณะนุ่ม ควรใช้เข็มเบอร์ 16-18 ต่อเข้ากับกระบอกฉีดยา แล้วเจาะดูดเอาหนองออก ไม่ควรผ่าเพราะจะทำให้แผลหายช้า และอาจทำให้มีการอุดกั้นของทางเดินน้ำเหลืองในบริเวณนั้นได้
3. ในรายที่เป็นฝีคัณฑสูตรหรือลำไส้ตรงตีบตัน แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัด
สำหรับลำไส้ตรงตีบตัน แพทย์จะทำการถ่างขยาย หากไม่ได้ก็จะทำการผ่าตัด
ผลการรักษา มักจะช่วยให้หายเป็นปกติเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยาปฏิชีวนะรักษาผู้ป่วยที่มีอาการในระยะแรกและระยะที่ 2 แต่บางรายอาจมีอาการกลับมากำเริบใหม่ได้
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีตุ่มนูน ตุ่มใส หรือแผลขนาดเล็กที่อวัยวะเพศ ในช่องปาก หรือคอหอย มีอาการต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบหรือที่ข้างคอบวมโตและเจ็บ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นฝีมะม่วง ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหาย
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
มีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา
การป้องกัน
หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ถ้าจะหลับนอนกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัย และฟอกล้างสบู่ทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์
ข้อแนะนำ
1. หลังการรักษา 3 เดือน ควรตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอลและเชื้อเอชไอวี เช่นเดียวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น
2. ความเชื่อเกี่ยวกับของแสลง ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับโรคหนองใน
3. ผู้ที่มีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยภายในระยะ 60 วันนับแต่ผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจกรองโรคนี้ และให้ยากินป้องกันล่วงหน้า (โดยไม่รอผลการตรวจว่ามีการติดเชื้อหรือไม่) โดยแพทย์จะให้อะซิโทรไมซิน 1 กรัม ครั้งเดียว หรือดอกซีไซคลีน 100 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 7 วัน
โรคฝีมะม่วง (Lymphogranuloma venereum/LGV) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions