ผู้เขียน หัวข้อ: ศูนย์ข้อมูลโควิด-19: อาการลองโควิด (Long COVID) ที่อาจคาดไม่ถึง เหนื่อยเพลีย ผื่  (อ่าน 58 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
หลังการติดเชื้อโควิด-19 นอกจากอาการของระบบทางเดินหายใจที่พบได้บ่อยแล้ว หากมีอาการอื่น ๆ เช่น ผมร่วง ผื่นแพ้ หลงลืม ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการของโรคโควิด-19 ในระยะยาว หรือที่เรียกว่า ลองโควิด  (Long COVID, Post-COVID conditions, Post-COVID syndromes, long-haul COVID-19)

 
ลองโควิดคืออะไร?

ภาวะลองโควิด (Long COVID) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยยังคงมีอาการผิดปกติหลังจากหายจากโรคโควิด-19 แล้ว โดยอาการมักเกิดหลังการติดเชื้อโควิด-19 4-12 สัปดาห์ขึ้นไป และยังคงมีอาการต่อเนื่อง โดยอาการและผลกระทบจากลองโควิดไม่สามารถอธิบายหรือวินิจฉัยด้วยภาวะอื่นได้ ภาวะลองโควิดอาจพัฒนาตั้งแต่ยังมีการติดเชื้อโควิด-19 หรือหลังจากหายจากโรค และสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้


ภาวะลองโควิดเกิดจากอะไร?

ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับสาเหตุของภาวะลองโควิด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากรอยโรคที่หลงเหลือจากการติดเชื้อต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำงานผิดปกติไป หรือจากชิ้นส่วนของเชื้อไวรัสที่ยังตกค้างอยู่ในร่างกาย แม้จะไม่แสดงอาการแต่อาจกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เกิดการต่อต้านเชื้อ จนแสดงอาการอื่น ๆ ได้


ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อภาวะลองโควิด?

ผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 ร้อยละ 10-20 อาจมีภาวะลองโควิดได้ ในบางงานวิจัยพบว่าผู้ป่วยถึงครึ่งหนึ่งมีอาการของภาวะลองโควิดอย่างน้อยหนึ่งอาการ โดยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อภาวะลองโควิดมากขึ้นได้แก่

    ผู้ป่วยที่อยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล
    ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย
    ผู้ป่วยสูงอายุ
    ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด เบาหวาน ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
    ผู้ที่มีโรคประจำตัวด้านจิตใจ

อาการลองโควิด

อาการลองโควิด ที่พบได้บ่อย เช่น 

    เจ็บหน้าอก หรือ ใจสั่น 
    หายใจไม่อิ่ม หรือ หายใจลำบาก 
    อาการไอ 
    ปวดศีรษะ 
    สูญเสียการได้กลิ่น หรือ รับรส 
    ปวดตัว 
    ปวดกล้ามเนื้อ 
    ปวดตามข้อ 
    ปวดท้อง 
    ท้องเสีย 
    เจ็บคอ

อาการลองโควิด อื่น ๆ ที่อาจพบได้ และอาจดูไม่สัมพันธ์กับการติดเชื้อโควิด-19


1. อาการเหนื่อยเพลีย 

สาเหตุ อาการเหนื่อยเพลียในผู้ป่วยลองโควิด อาจเกิดจากการที่ร่างกายมีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันมากขึ้นเพื่อตอบสนองกับเชื้อไวรัสในช่วงที่ติดเชื้อและยังคงมีผลต่อเนื่องในระยะยาว 

การที่เชื้อไวรัสมีผลโดยตรงต่อระบบกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการอักเสบและการทำลายกล้ามเนื้อบางส่วนจนทำให้เกิดการเหนื่อยเพลียได้ รวมไปถึงการที่ไม่ค่อยมีกิจกรรมทางสังคมและการออกกำลังในช่วงการระบาดของโรค ก็เป็นสาเหตุของการเหนื่อยเพลียที่มากขึ้นได้

อาการ ผู้ป่วยถึงครึ่งหนึ่งที่หายจากโรคโควิด-19 ยังคงมีอาการเหนื่อยเพลียเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจเหนื่อยง่าย  อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลียมากจนไม่สามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันตามปกติได้ หรือไม่สามารถออกแรงได้เท่าเดิม แม้การตรวจสมรรถภาพทางร่างกายจะเป็นปกติ

การดูแลรักษา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกภาวะทางร่างกาย เช่น การติดเชื้อในระบบประสาทที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือรอยโรคในระบบทางเดินหายใจและหัวใจออกก่อน 

ภาวะเหนื่อยเพลียยังไม่มีการรักษาโดยวิธีจำเพาะ แนะนำให้ผู้ป่วยเลือกทำกิจกรรมที่อาจใช้แรงมาก ในช่วงเวลาที่ร่างกายสดชื่นและมีกำลังที่สุดของวัน ทำกิจกรรมเท่าที่สามารถทำได้ ไม่ฝืนออกแรงมากไปและค่อย ๆ ทำกิจกรรมหรือออกแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับเพื่อให้เวลาแก่ร่างกายในการฟื้นตัวต่อโรค 


2. ปัญหาด้านความจำ สมาธิ อาการหลงลืม

สาเหตุ การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจมีผลต่อระบบประสาทและสมองได้ เชื้อไวรัสอาจทำลายเนื้อเยื่อตาข่ายป้องกันของสมอง ทำให้สารสื่อประสาทต่าง ๆ ผ่านเข้าออกสมองได้มากกว่าปกติ การแข็งตัวของเลือดที่เปลี่ยนแปลงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดสมองขาดเลือด ซึ่งถ้าหากเกิดในบริเวณที่ไม่ใหญ่มากนัก อาจมีอาการไม่ชัดเจนนอกจากการหลงลืม ส่งผลถึงความจำ หรือสมาธิ 

การต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในหอผู้ป่วยวิกฤต ไม่ได้ติดต่อกับสังคมหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย หรือเกิดภาวะความเครียดจากการผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-traumatic stress disorder) ซึ่งส่งผลต่อความคิด ความจำ และมีอาการหลงลืมเพิ่มมากขึ้นได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ

อาการ ผู้ป่วยอาจมีปัญหาด้านความคิด ความจำ คิดได้ช้า รู้สึกเหมือนสมองตื้อ อาการหลงลืม ขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่เคยทำได้นาน ๆ อาจมีปัญหาด้านการนอน เช่น การนอนไม่หลับ

การดูแลรักษา ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณารักษาร่วมกับจิตแพทย์และนักจิตบำบัด ในต่างประเทศพบว่าผู้ป่วยบางรายมีอาการดีขึ้นหลังการใช้การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นไฟฟ้าอย่างอ่อน 


3. ผมร่วงหลังโควิด

สาเหตุ อาการผมร่วมหลังติดเชื้อโควิด-19 อาจเกิดจากการติดเชื้อโดยตรง โดยเชื้อจะทำปฏิกิริยากับร่างกายทำให้เกิดการปล่อยสารก่อการอักเสบมากขึ้น ส่งผลต่อระบบภายในร่างกาย ทำให้เส้นผมหลุดร่วงได้ หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความเครียดทั้งจากการติดเชื้อและการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอในช่วงที่มีการติดเชื้อ

อาการ มีผมร่วงโดยจะร่วงทั่วบริเวณศีรษะ โดยไม่มีแผลเป็น โดยจะร่วงมากกว่า 100 เส้นต่อวัน ในผู้ป่วยบางรายอาจร่วงมากถึง 1,000 เส้นต่อวัน

การดูแลรักษา ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดูแลสุขภาพ ลดปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ อาจปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้การรักษา เช่น ยาไมน็อกซิดิล (Minoxidil)


4. ผื่น หรือ สัมผัสผิดปกติที่ผิวหนัง

อาการ รู้สึกผิดปกติที่ผิวหนัง โดยอาจมีอาการคล้ายเข็มเล็ก ๆ ทิ่ม ชา คัน ตามผิวหนัง โดยเป็นมากที่บริเวณที่รับน้ำหนักนาน ๆ หรือปลายมือ ปลายเท้า อาจมีผื่นซึ่งมีลักษณะเป็นผื่นแดง คล้ายเส้นใยเล็ก ๆ หรือตาข่าย อาจบวมแดง มีตุ่มน้ำ หรือมีอาการคันคล้ายผื่นลมพิษ มักพบมากที่บริเวณนิ้วเท้า มือ เท้า

การดูแลรักษา ควรรักษาความสะอาด ล้างมือบ่อย ๆ ทาครีมบำรุงผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อแยกโรคทางระบบประสาทและผิวหนัง รวมถึงผลข้างเคียงของโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่นเบาหวาน หรือเมื่อมีอาการหายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก  ร่วมด้วย


อาการลองโควิดในเด็ก และวัยรุ่น

อาการลองโควิดสามารถพบได้ในเด็กและวัยรุ่น แม้จะเกิดได้น้อยกว่าในวัยผู้ใหญ่ โดยอาการที่พบได้บ่อยคือเหนื่อยเพลีย ปวดศีรษะ ปัญหาด้านการนอน ไม่มีสมาธิ ปวดกล้ามเนื้อและปวดตามข้อ ไอ ในเด็กอาจเกิดภาวะ Multisystem Inflammatory Syndrome in Children Associated with COVID-19 (MIS-C) ซึ่งทำให้มีการอักเสบทั่วร่างกาย อาจมีอาการคล้ายไข้คาวาซากิ ซึ่งมีอาการไข้สูง ผื่นตามร่างกาย ตาแดง ปากแดง อีกภาวะหนึ่งที่ควรระวังเป็นพิเศษคือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เด็กหรือวัยรุ่นที่เป็นนักกีฬาควรได้รับการตรวจอย่างละเอียดหลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ก่อนกลับไปเล่นกีฬาอย่างหนัก


อาการลองโควิด จะหายหรือไม่

อัตราและระยะเวลาการหายจากภาวะลองโควิดยังอยู่ในระหว่างการศึกษา เนื่องจากผู้ป่วยหลายรายที่มีอาการไม่ได้ปรึกษาแพทย์ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นและหายได้ในช่วง 4-6 เดือน


ลองโควิดรักษาอย่างไร

การรักษาภาวะลองโควิดยังไม่มีการรักษาแบบจำเพาะ แพทย์จะให้การรักษาตามอาการร่วมกับการปรึกษาสหสาขาวิชาชีพ เช่น นักกายภาพบำบัด นักอาชีวบำบัด นักจิตบำบัด รวมถึงการวินิจฉัยหาโรคหรือภาวะอื่นที่อาจเป็นสาเหตุ ในบางงานวิจัยพบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยที่มีภาวะลองโควิดทำให้อาการของลองโควิดลดลงได้
การป้องกันภาวะลองโควิด

วิธีการป้องกันภาวะลองโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดคือการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน สวมใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง เลี่ยงบริเวณแออัด รวมถึงดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล


ควรทำอย่างไรหากมีอาการลองโควิด

หากเคยติดเชื้อโควิด-19 แล้วยังมีอาการดังกล่าวที่สงสัยว่าจะเป็นภาวะลองโควิด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ให้การวินิจฉัย และรักษา บรรเทาอาการได้


ศูนย์ข้อมูลโควิด-19: อาการลองโควิด (Long COVID) ที่อาจคาดไม่ถึง เหนื่อยเพลีย ผื่นแพ้ ผมร่วง หลงลืม อ่านบทเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/covid-19

 

ลงประกาศฟรี ติด google ลงโฆษณา ขายของ ฟรี โพสต์ฟรี ลงประกาศฟรี ขายฟรี ขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ประกาศฟรี ขายฟรี ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทเว็บ google ฟรี